ม้ค้ำสะหลี หรือไม้ค้ำโพธิ์ เป็นความเชื่อของชาวล้านนาที่สืบทอดกันมายาวนาน โดยเรียกเป็นภาษาพื้นเมืองว่า ไม้ค้ำสะหลี ความเชื่อที่ว่านั้นคือ ไม้ใหญ่มักจะมีเทพเทวาสถิต โดยเฉพาะต้นไม้ที่มีอยู่ในพุทธประวัติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งถือกันว่ามีความเป็นมงคลยิ่ง เช่น ต้นสาละ และต้นโพธิ์ หรือต้นศรีมหาโพธิ์ เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ห้ามตัดฟันโดยเด็ดขาด และมีข้อห้ามตัดไม้ศรี ปรากฏในความเชื่อเรื่องขึด เรียกว่า “รานศรี” ชาวล้านนายังมักนำไม้ค้ำ สะพานเงิน สะพานคำ จากพิธีสืบชะตา นำมาวางไว้บนคาคบของต้นโพธิ์ เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีอายุยืนยาว และหากผู้ใดได้นำไม้มาค้ำต้นไม้มงคลอย่างโพธิ์ไว้ โดยเฉพาะค้ำลำต้นหรือกิ่งก้านที่โน้มเอียงลงมาคล้ายๆ จะไม่มั่นคงให้ดูมั่นคงขึ้น จะช่วยประคองดวงชะตาให้เจริญ ไม่ตกต่ำ เป็นความเชื่อเดียวกับที่เชื่อกันว่า หากใครเดินเที่ยวป่าแล้วพบก้อนหินใหญ่ที่ยื่นออกมาเหมือนทำท่าจะล้ม ให้เอาไม้เท่าที่หาได้มาค้ำหินนั้นไว้ เพื่อค้ำดวงชะตาไม่ให้ตกต่ำ
การแห่ไม้ค้ำโพธิ์ หรือไม้ค้ำสะหลี เป็นการแห่ด้วยเครื่องแห่พื้นเมือง เช่น แห่กลองสิ้งหม้อง ในขบวนจะมีกลุ่มชาวบ้านมีทั้งชายหญิง ผู้เฒ่าผู้แก่ต่างถือช่อ (ธงสามเหลี่ยม) หมากสู่ม หมากเบ็ง ต้นผึ้ง ต้นเทียน หาบหรืออุ้มสลุงบรรจุน้ำขมิ้นส้มป่อย น้ำสุคันโธทกะ น้ำอบน้ำหอมซึ่งเป็นเครื่องสักการะ คนเฒ่าคนแก่บ้างก็ฟ้อนดาบ ส่วนไม้ค้ำก็จะหามแห่ หรือตกแต่งบนรถให้งดงาม
เมื่อถึงขบวนแห่ไม้ค้ำสะหลี หรือค้ำโพธิ์ถึงวัด โดยชายหนุ่มหาญกล้าที่แข็งแรงจะช่วยกันดึงไม้ค้ำขึ้นค้ำต้นโพธิ์ เพราะไม้ค้ำแต่ละต้นต้นใหญ่มาก นำไม้ค้ำที่ตนได้จัดทำขึ้นไปค้ำที่ต้นโพธิ์ ไม้ค้ำดังกล่าวอาจได้มาจากไม้ง่ามที่ใช้ในพิธีสืบชาตาหรือไม้ค้ำที่จัดหา ขึ้นเป็นพิเศษ เนื่องในการถวายทานในเทศกาลสงกรานต์ การที่ได้นำเอาไม้ค้ำไปค้ำที่ต้นโพธิ์นี้ อาจจัดเป็นสัญลักษณ์หมายความว่าผู้นั้นมีส่วนในการค้ำชูพระพุทธศาสนา พอค้ำเสร็จก็นิมนต์พระมารับการถวายไม้ค้ำโพธิ์ จะมีการรดน้ำส้มป่อยที่ตัวไม้ค้ำเพื่อขอขมาครัวทาน และรับพรจากพระเป็นอันเสร็จพิธี
ขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น