วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ดาสลาก

ดาสลาก
ดาสลาก
ประเพณีตานก๋วยสลากหรือ ตานสลาก  กิ๋นข้าวสลาก กิ๋นก๋วยสลาก  กิ๋นสลาก เป็นชือเรียกของประเพณีสลากภัต ของชาวล้านนาเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดต่อๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งถือว่าเป็นงานบุญใหญ่เป็นการทำบุญโดยไม่เจาะจงว่าจะถวายสิ่งของและปัจจัยที่ตนนำมาให้กับใครโดยเฉพาะ ประเพณีตานก๋วยสลากเป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ได้มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงรุ่นปัจจุบัน  ซึ่งมีตำนานเกี่ยวกับประเพณีตานก๋วยสลากว่า มีนางยักษิณีตนหนึ่งมักจะเบียดเบียน ผู้คนอยู่เสมอ ครั้นได้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว นางก็บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธานิสัยใจคอที่โหดร้ายก็กลับเป็นผู้เอื้ออารีแก่คนทั่วไปจนผู้คนต่างพากันซาบซึ้งในมิตรไมตรีของนางยักษิณีตนนั้น ถึงกับนำสิ่งของมาแบ่งปันให้ แต่เนื่องจากสิ่งของที่ได้รับมีจำนวนมาก นางยักษิณีจึงนำสิ่งของเหล่านั้นมาทำเป็นสลากภัต แล้วให้พระสงฆ์ สามเณร จับสลากด้วยหลักอุปโลกนกรรม คือสิ่งของที่ถวาย มีทั้งของของมีราคามากและมีราคาน้อยแตกต่างกันไปตามแต่โชคของผู้ได้รับ การถวายแบบจับสลากของนางยักษิณีจึงนับเป็นครั้งแรกของประเพณีทำบุญสลากภัตในพุทธศาสนา

มาแอ่วดาสลาก
มาแอ่วดาสลาก
ประเพณีตานก๋วยสลากมักนิยมจัดขึ้นตั้งแต่เดือน 12 เหนือถึงเดือนยี่เหนือหรือตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี สาเหตุที่ถือปฏิบัติกันเช่นนี้ก็เพราะว่า เป็นช่วงที่ชาวบ้านได้ทำนากันเสร็จแล้ว หยุดพักผ่อน พระสงฆ์ก็จำพรรษาอยู่วัดไม่ได้ไปไหน  ก่อนจะถึงวันตานก๋วยสลากหนึ่งวันจะเรียนวันนี้ว่า “วันดา”  วันดาเป็นวันแต่ละบ้านจัดเตรียมสิ่งของเพื่อใส่ในก๋วยสลาก ผู้ชายจะตัดไม้มาจักตอกสานก๋วย (ชะลอม) ไว้หลายๆใบตามศรัทธาและกำลังทรัพย์ แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปบางบ้านก็จะนำถังน้ำหรือตะกล้าพลาสติกมาแทนก๋วย(ชะลอม) ฝ่ายหญิงจะจัดเตรียมสิ่งของที่จะนำมาบรรจุในก๋วย เช่นข้าวสาร พริกแห้ง หอม กระเทียม เกลือ กะปิ น้ำปลา ขนม เมี่ยง บุหรี่ ไม้ขีดไฟ เทียนไข สีย้อมผ้า ผลไม้ รวมทั้งเครื่องใช้ต่าง ๆ แล้วบรรจุลงในก๋วยสลากที่กรุด้วยใบตอง ใบหมากผู้หมากเมีย”ใส่ยอด” คือธนบัตร ผูกติดไม้ เสียบไว้ในก๋วยให้ส่วนยอดหรือธนบัตรโผล่มาแล้วรวบปากก๋วยสลากตกแต่งด้วยดอกไม้ “ยอด” หรือธนบัตรที่ใส่นั้นไม่จำกัดว่าเป็นจำนวนเท่าใด
ส่วนสลากโชคหรือสลากก๋วยใหญ่ ของที่นำบรรจุในก๋วยเช่นเดียวกับสลากน้อยแต่ปริมาณมากกว่าหรือพิเศษกว่า สมัยก่อนจะทำเป็นรูปเรือหลังเล็กมีข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น หม้อข้าว หม้อแกง ถ้วยแกงถ้วยชาม เครื่องนอน เครื่องนุ่งห่ม อาหารสำเร็จรูปใส่ไว้ด้วย มีต้นกล้วย ต้นอ้อยผูกติดไว้ “ยอด” หรือธนบัตรจะใส่มากกว่าสลากน้อย  ก๋วยสลากทุกอันต้องมี “เส้นสลาก” ซึ่งทำจากใบลานหรือปัจจุบันใช้กระดาษมาตัดเป็นแผ่นยาวๆ เขียนชื่อเจ้าของไว้ และยังบอกอีกว่าจะอุทิศไปให้ใคร เช่น ” สลากข้างซองนี้ หมายมีผู้ข้า นาย… นาง ขอทานไปถึงกับตนภายหน้า ” หมายถึงถวายทานเพื่อเป็นกุศลแก่ตนเองเมื่อล่วงลับไป และอีกแบบหนึ่ง คือ”สลากข้าวซองนี้ หมายมีผู้ข้านาย…..นาง…..ขอทานไปถึงยังนาย/นาง….(ชื่อผู้ตาย) ผู้เป็น…….(ความเกี่ยวข้องกับผู้ให้ทาน)ที่ล่วงลับ ขอให้ไปรอดไปถึงจิมเต่อ” หมายถึงอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ในวันดาสลาก  วันนี้จะมีญาติสนิทมิตรสหายที่อยู่ต่างบ้านจะหอบหิ้วสิ่งของทั้งของกินของใช้หรือปัจจัยมาร่วมจัดดาสลาก เจ้าบ้านก็จะทำสารพัดกับข้าว สารพัดอาหารมาต้อนรับซึ่งอาหารหนึ่งเมนูที่มักจะนิยมทำกันในแต่ละบ้านในโอกาสพิเศษแบบนี้ก็ตองเป็นเมนูลาบ  และก็ใช้โอกาสเวลานี้เป็นการพูดคุยสอบถามสารทุกข์สุขดิบกัน  เสียงหัวเราะ เสียงหยอกเย้า เสียงจ๊อยเสียงซอ เสียงเพลง ก็ดังออกมาจากแต่ละบ้านทำให้บรรยากาศดาสลากสนุกสนาน
พอถึงวันตานสลากแต่ละบ้านจะนำก๋วยสลากที่จัดทำแล้วไปวัด และเอา”เส้นสลาก” ทั้งหมดไปรวมกันที่หน้าพระประธานในวิหาร จะมีการฟังเทศน์ฟังธรรม และแต่ละบ้านจะนำเส้นสลากมารวมกันแล้วแบ่งเส้นสลากทั้งหมด เป็น 3 ส่วน(กอง) ส่วนหนึ่งเป็นของพระเจ้า (คือของวัด)อีก 2 ส่วนเฉลี่ยไปตามจำนวนพระภิกษุสามเณรที่นิมนต์มาร่วมในงานทำบุญ หากมีเศษเหลือมักเป็นของพระเจ้า (วัด) ทั้งหมด พระภิกษุสามเณรเมื่อได้ส่วนแบ่งแล้ว จะยึดเอาชัยภูมิแห่งหนึ่งในวัดและออกสลากคือ อ่านชื่อเส้นสลากดังๆ หรือให้ลูกศิษย์ ที่ได้ตะโกนตามข้อความที่เขียนไว้ในเส้นสลาก หรือเปลี่ยนเป็นคำสั้นๆเช่น ศรัทธา นายแก้ว นามวงศ์ มีนี่เน้อ ” บางรายจะหิ้ว “ก๋วย” ไปตามหาเส้นสลากของตนตามลานวัดเมื่อพบสลากของตนแล้วจะเอาสลากของตนถวายพระ พระจะอ่านข้อความในเส้นสลากและอนุโมทนาให้พร  ประเพณีตานก๋วยสลากเป็นประเพณีดีงามที่ชาวล้านนาปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านานเป็นประเพณีที่แสดงความกตัญญูต่อญาติมิตรผู้ล่วงลับ สร้างความสามัคคีกันของคนในหมู่บ้านรวมถึงหมู่บ้านใกล้เคียง อีกทั้งเป็นการหาเงินและวัสดุมาบูรณปฏิสังขรณ์วัดเป็นการบริจาคทานที่ถือว่ามีอานิสงส์มาก ซึงเป็นประเพณีที่เราควรต้องอนุรักษ์และร่วมสืบทอดต่อๆ ไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น