วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2558

วัดพระธาตุขิงแกง

วัดพระธาตุขิงแกง อ.จุน จ.พะเยา
วัดพระธาตุขิงแกง อ.จุน จ.พะเยา
พะเยาเป็นเมืองที่มีเรื่องราวทางด้านประวัติศาสตร์มายาวนานควบคู่กับอาณาจักรล้านนา มีเรื่องราวความงามด้านศิลปกรรม มีโบราณสถาน ศิลปวัตถุที่ทรงคุณค่าอยู่มากมาย การเดินทางของพะเยา108 ในวันนี้จะขอพาทุกท่านมารู้จักกับโบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดพะเยามาเยือนยังดินแดนที่หลายคนกล่าวขาวว่า
 “ พระธาตุขิงแกง  แหล่งปลาค้าว  ค่าวหงส์หิน  ถิ่นเวียงลอ  พืชผลเกษตรเพียงพอ  ข้าวก่ำงาม ”
ครับวันนี้พะเยา108 ขอพาทุกท่านมาเยือนยังอำเภอจุน ดินแดนที่ครั้งหนึ่งเป็นเมืองโบราณสมัยเดียวกับเมืองพะเยา มีชื่อเรียกว่า “เมืองลอ” ต่อมา ในสมัยพระเจ้ามหาพรหมสุชาดา เจ้าเมืองปกครองนครน่าน ได้ให้ขุนหลวงไชยสถานนำไพร่พลออกมาตั้งบ้านเมืองใหม่โดยรวมกันอยู่ ณ บริเวณลุ่มน้ำจุน เรียกว่า “เมืองจุน” และต่อมาเมืองลอได้เสื่อมลงขุนหลวงไชยสถานจึงได้รวบรวมเมืองลอกับเมืองจุนไว้ด้วยกัน ปี 2443 ได้รวบรวมเมืองลอ เมืองจุน เมืองเทิง เชียงของและนครน่านเข้าเป็นเขตปกครองเดียวกันเรียกว่า “เมืองน่าน” (ที่มา: www. reocities.com)   โบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่หลายๆ คนให้ความเคารพนับถือและเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของอำเภอจุนนั่นก็คือ พระธาตุขิงแกง พระธาตุเจดีย์ขิงแกง เป็นพระธาตุเจดีย์ที่ศักดิ์สิทธิ์ องค์พระธาตุได้บรรจุพระเกศาธาตุและพระธาตุกระดูกเท้าข้างขวาของพระพุทธเจ้าซึ่งในวันขึ้น15 ค่ำ เดือน 5 (เดือน 7 เป็ง) จะมีประเพณีสรงน้ำพระธาตุขิงแกง ของทุกปี วัดพระธาตุขิงแกงขึ้นทะเบียนโบราณสถานของจังหวัดพะเยา เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2547       
พระธาตุขิงแกงเป็นเจดีย์ทรงล้านนาขนาดใหญ่ ฐานกว้าง 15 เมตร สูง 20 เมตร ประดิษฐานพระพุทธรูปในซุ้มเรือนแก้วทั้งสี่ด้าน ช่วงกลางของเจดีย์ประดับกระจกสี องค์เจดีย์มีกำแพงแก้วล้อมรอบและมีเจดีย์องค์บริวารทั้งสี่มุม จากการเดินทางมาเยี่ยมชมวัดพระธาตุขิงแกงของพะเยา108 ในครั้งนี้รู้สึกได้ถึงความงาม  ตัวองค์เจดีย์ดีมีความงามมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ มีการผสมผสานระหว่างรูปแบบงานศิลปกรรมของลานนาและมีกลิ่นอายของงานศิลปกรรมไทใหญ่ผสมผสานเข้ากันอย่างลงตัว สำหรับการเดินทางมาเยี่ยมชมวัดพระธาตุขิงแกง สามารถเดินทางมาทางรถโดยสาร สาย พะเยา- จุน สายพะเยา-ปง หรือใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทางตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๑ ถึงบ้านธาตุขิงแกง ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร แยกขวา เป็นทางเดินไปอีกประมาณ ๓๐๐ เมตร ถึงตัววัด ตั้งอยู่บนเนินเขาธาตุขิงแกง ซึ่งสามารถมองเห็น ทัศนียภาพ ของหมู่บ้านขิงแกง ได้อย่างชัดเจน
“ถ้ามีโอกาสเดินทางมาเยือนเมืองพะเยาอย่าพลาดไปเยี่ยมชมความงามของงานศิลปกรรมและไปกราบนมัสการพระเกศาธาตุและพระธาตุกระดูกเท้าข้างขวาของพระพุทธเจ้า ณ วัดพระธาตุขิงแกง”

ความงามของงานศิลปกรรมวัดพระธาตุขิงแกง
ความงามของงานศิลปกรรมวัดพระธาตุขิงแกง
ยักษ์เฝ้าองค์พระธาตุ วัดพระธาตุขิงแกง
ยักษ์เฝ้าองค์พระธาตุ วัดพระธาตุขิงแกง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น