วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558

=> อำเภอเมือง







อนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง


จังหวัดพะเยาได้รับการยกฐานะให้เป็นจังหวัดที่ ๗๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ชาวพะเยาจึงร่วมใจกันสร้างอนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมืองขึ้น บริเวณสวนสาธารณะริมกว๊านพะเยา เป็นรูปปั้นสำริดความสูงเท่าครึ่งขององค์จริงในท่าประทับยืน ทรงชุดกษัตริย์สวมมงกุฎ พระหัตถ์ถือดาบอาญาสิทธิ์ หันพระพักตร์ไปทางกว๊านพะเยา ประดิษฐานบนแท่นสูง ๒.๕๐ เมตร พ่อขุนงำเมืองเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพะเยา มีคนแวะเวียนมากราบไหว้สักการะอนุสาวรีย์ของท่านอยู่ตลอดวันเวลา ช่วงเทศกาลลอยกระทงจะคึกคักเป็นพิเศษ

ตามประวัติกล่าวไว้ว่า พ่อขุนงำเมืองเป็นโอรสของพ่อขุนมิ่งเมือง กษัตริย์แห่งเมืองภูกามยาวหรือพะเยาในปัจจุบัน หลังจากพระราชบิดาสวรรคต พ่อขุนงำเมืองจึงขึ้นครองราชย์ในพ.ศ. ๑๘๐๑ จนถึง ๑๘๔๑ พ่อขุนงำเมืองเป็นกษัตริย์ที่ทรงอานุภาพ เป็นยุคที่บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองมาก เล่ากันว่าเสด็จไปทางไหน “แดดก็บ่ฮ้อน ฝนก็บ่ฮำ” จะให้แดดออกฝนตกก็ได้ พ่อขุนงำเมืองปกครองเมืองภูกามยาวจนเจริญเป็น ๑ ใน ๓ อาณาจักรของชนเผ่าไทยแถบนี้ ซึ่งมีอาณาจักรล้านนา อาณาจักรสุโขทัย และอาณาจักรพะเยา พ่อขุนงำเมืองยังเป็นพระสหายร่วมสำนักศึกษากับพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และต่อมาได้เป็นพระสหายร่วมน้ำสาบานกับพญาเม็งราย ทั้งสามพระองค์ทรงประกอบพิธีสาบาน หลั่งพระโลหิตจากปลายนิ้วลงในจอกสุราเดียวกัน ณ ริมฝั่งแม่น้ำขุนภู แล้วประทับหันพระปฎษฏางค์พิงกัน (อิงหลังชนกัน) ตั้งสัตยาอธิษฐานว่าจะทรงรักใคร่ปรองดองซื่อสัตย์ต่อกันชั่วชีวิต แล้วต่างก็ดื่มพระโลหิตจอกนั้น ภายหลังถึงเรียกแม่น้ำขุนภูว่า “แม่น้ำอิง”

งานบวงสรวงพ่อขุนงำเมือง เป็นงานประเพณียิ่งใหญ่ของชาวพะเยา จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันที่ ๕ มีนาคม ซึ่งตรงกับวันประสูติของพ่อขุนงำเมือง งานจัดขึ้น ณ ลานอนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง ริมกว๊านพะเยา มีขบวนแห่สักการะจากทุกอำเภอจัดอย่างสวยงาม มีผู้คนจากทั่วสารทิศ เดินทางมาร่วมพิธีบวงสรวงจำนวนมาก





วัดราชคฤห์
เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าวัดใหม่ เป็นวัดที่ตั้งอยู่กลางเมือง มีบรรยากาศสงบร่มรื่น ภายในวัดประดิษฐานเจดีย์องค์ไม่ใหญ่นักแต่งามน่าแวะเที่ยวชม ความโดดเด่น คือ ซุ้มประตูโขงและเจดีย์อันงดงาม ซุ้มประตูโขงเป็นซุ้มประตูทางเดินเข้าสู่วัด ประดับด้วยปูนปั้น นางฟ้าเทวดา พญานาค และดอกไม้ ลวดลายโดดเด่นสะดุดตา ยอดซุ้มประตูเป็นรูปพรหมสี่หน้า เจดีย์อยู่ด้านหลังโบสถ์ เป็นทรงแปดเหลี่ยมย่อมุม สูงประมาณ ๒๐ เมตร องค์เจดีย์มีซุ้มจระนำและเจดีย์บริวารทั้งสี่ทิศตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ลานประทักษิณรอบเจดีย์กว้างด้านละ ๑.๕๐ เมตร มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ประตูทางเข้ามีสี่ด้าน มีรูปปั้นสิงห์คู่เฝ้าประตูทุกด้าน นับเป็นเจดีย์ศิลปะล้านนาที่สวยงามของเมืองพะเยา





น้ำตกจำปาทอง
อยู่ในอุทยานแห่งชาติดอยหลวง มีพื้นที่ครอบคลุมถึง ๓ จังหวัดคือ เชียงราย พะเยาและลำปาง ที่ทำการอุทยานฯอยู่ในเขตจังหวัดเชียงราย ตัวน้ำตกจำปาทองอยู่ในเขตอำเภอเมืองจังหวัดพะเยา การเดินทางจากสี่แยกประตูชัย ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑ ไปทางอำเภอแม่ใจ กิโลเมตรที่ ๗ แยกไปทางซ้ายมือ ทางหลวงหมายเลข ๑๑๒๗ ผ่านวัดต๊ำม่อง วัดถ้ำกลางไปอีก ๕๐๐ เมตร พบทางแยกซ้ายให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ ๔ กิโลเมตร พบหน่วยพิทักษ์อุทยานฯที่ดล.๖ (จำปาทอง) น้ำตกอยู่เลยหน่วยพิทักษ์ไปอีก ๓๕๐ เมตร น้ำตกอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๒๓ กิโลเมตร ที่ตั้งอยู่ที่บ้านต๊ำกลาง ต.ต๊ำ อ.เมือง ที่บ้านต๊ำในซึ่งอยู่ไกล้ๆกับน้ำตกมีชื่อเสียงในเรื่องการรักษาป่าอย่างเข้มแข็ง พื้นที่ป่าได้รับประกาศให้เป็นป่าชุมชน มีความอุดมสมบูรณ์เป็นต้นน้ำที่ไหลลงสู่กว๊านพะเยา น้ำตกจำปาทองเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มีความอุดมสมบูรณ์มีน้ำตลอดทั้งปี สายน้ำลดหลั่นลงมา ๖ ชั้น ชั้นที่สวยที่สุดคือชั้นที่ ๒ และ ๓ และมีแอ่งให้ลงเล่นน้ำได้หลายแห่ง มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติเป็นระยะทาง ๒.๒๐ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ ๒ ชั่วโมง ผ่านป่าดงดิบแล้ง

โบราณสถานบ้านร่องไฮ
เป็นโบราณสถานที่เป็นชุมชนโบราณขนาดใหญ่ อยู่ริมกว๊านพะเยา เป็นส่วนหนึ่งของวัดติโลกอารามในสมัยโบราณ บริเวณไกล้เคียงกันมีร่องรอยของศาสนสถานอยู่ประมาณ ๘-๙ แห่ง โดยมีกลุ่มโบราณสถานบ้านร่องไฮ ตำบลแม่ใส อำเภอเมือง หลักฐานที่เคยพบเกี่ยวข้องโดยตรงกับวัดติโลกอาราม คือ จารึกวัดติโลกอาราม พบที่เนินสันธาตุในกว๊านพะเยาไกล้กับท้ายหมู่บ้านร่องไฮ


บ้านโบราณอายุร้อยปีริมกว๊านพะเยา
บ้านโบราณที่ยังคงสภาพเดิมอยู่ของจังหวัดพะเยา อยู่ริมถนนชายกว๊านเลียบกว๊านพะเยา ยังมีสภาพสมบูรณ์ให้สามารถชมดูได้ ซึ่งต้องขออนุญาติเจ้าของบ้านก่อน มีอยู่ ๒ หลัง


ตลาดเช้า
บรรยากาศเป็นตลาดพื้นเมืองที่อยู่ในย่านเทศบาล เป็นตลาดที่ขายอาหารสดที่มีในท้องถิ่นทางภาคเหนือ มีทั้งเห็ด ผักสดพื้นเมือง อาหารต่างๆ อาหารเช้าแบบชาวพะเยา กาแฟกับข้าวเหนียวร้อนๆ ทานกับปลาส้มทอด ปลาส้มห่อไข่ อร่อยสุดยอดไปเลยและปลานานาชนิดสดๆจากกว๊านพะเยา ไม่ควรพลาดที่จะมาเดินชมตลาดเช้าเมื่อมาถึงพะเยา


ตลาดโต้รุ่ง
ตลาดโต้รุ่งบรรยากาศคึกคัก ตั้งแต่เริ่มพลบค่ำ เหมาะสำหรับคนที่ชอบบรรยากาศและทานอาหารในตอนกลางคืน มีให้เลือกนับร้อยร้าน ตั้งอยู่บนถนนรอบเวียงประตูกลอง เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาถึงพะเยา


ศาลหลักเมืองพะเยา
ศาลหลักเมืองพะเยาตั้งอยู่ริมถนนท่ากว๊าน มีถนนล้อมรอบทั้งสี่ด้าน อยู่ไม่ไกลจากริมกว๊านพะเยามากนัก และไกล้ๆกันนั้นคือวัดศรีอุโมงค์คำ และอีกด้านหนึ่งเป็นวัดราชคฤห์ จากถนนประตูชัยเลี้ยวซ้ายไปจรดถนนท่ากว๊านก็สามารถเห็นศาลหลักเมืองได้อย่างชัดเจน ศาลหลักเมืองพะเยามีความสวยงามทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่ควรพลาดทีจะต้องแวะไปกราบสักครั้งหนึ่งเมื่อถึงจังหวัดพะเยา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น