ตราประจำจังหวัดพะเยา มีรูปพระเจ้าตนหลวงวัดศรีโคมคำ เป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวพะเยา และคำขวัญประจำจังหวัดยังมีตอนหนึ่งว่าศักดิ์สิทธิ์พระเจ้าตนหลวง จึงเป็นที่กล่าวขานกันว่า ถ้ามาพะเยาแล้วไม่ได้มากราบนมัสการพระเจ้าตนหลวงที่วัดศรีโคมคำแห่งนี้ ถือว่ามาไม่ถึงพะเยา ชาวบ้านเรียกกันว่าพระนั่งดิน เพราะประดิษฐานอยู่บนดินแทนฐานชุกชี เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพะเยา ช่วงวิสาขบูชา มีประเพณีแปดเป็ง นมัสการพระเจ้าตนหลวง ถือเป็นงานบุญใหญ่ของชาวพะเยา
ประวัติความเป็นมา ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดเวไนยสัตว์ มาถึงล้านนา พระองค์ได้ประทับที่ดอยไกล้กับหนองเอี้ยงหรือกว๊านพะเยานั่นเอง ได้มีช่างทองมาถวายอาหารแต่ไม่ได้ถวายน้ำ, บินฑบาตร พระอานนท์จึงเดินไปตักน้ำที่หนองเอี้ยง พญานาคที่อาศัยอยู่ในหนองเอี้ยงทำทีพ่นควันแผ่พังพาน ไม่ยอมให้พระอานนท์ตักน้ำ หลังจากกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทราบ พระองค์จึงเสด็จไปที่หนองเอี้ยง พญานาคเห็นพระพุทธเจ้ามีพระวรกายสูงใหญ่ เต็มไปด้วยฉับพรรณรังสี จึงเกิดเลื่อมใสศรัทธายอมถวายน้ำต่อพระพุทธเจ้า หลังจากนั้นพญานาคจึงนำทองคำมามอบให้กับตา ยาย ที่บ้านอยู่ริมหนองนกเอี้ยงเพื่อสร้างพระในปี พ.ศ. ๒๐๓๔ สมัยพระยาเมืองยี่ ครองเมืองพะเยา ต่อมาพระยาหัวเคียน และพระเมืองตู้ ใช้เวลาสร้างพระเจ้าตนหลวงนานถึง ๓๓ ปี เสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๐๖๗ พระเจ้าตนหลวง เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปืนที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ สูง ๑๘.๕๐ เมตร หน้าตักกว้าง ๑๔ เมตร ปางมารวิชัย ปิดทองทั่วทั้งองค์ ในสมัยนั้นเมืองพะเยาได้ขึ้นอยู่กับอาณาจักรล้านนาแล้ว ภายหลังจึงสร้างวิหารครอบองค์พระ
ช่วงที่พม่าเข้ารุกรานปกครองล้านนา ประชาชนเสียทรัพย์สิน ละทิ้งบ้านเรือน วัดจึงถูกทิ้งร้างอยู่นานถึง ๕๖ ปี จากนั้นเจ้าผู้ครองเมืองพะเยาก็ได้บูรณะองค์พระเจ้าตนหลวง ก่อสร้างวิหารและเสนาสนะขึ้นจนมีสภาพสมบูรณ์ และปฏิสังขรณ์วัดเรื่อยมา จนมาถึงองค์สุดท้ายคือ พระยาประเทศอุดรทิศ (มหาชัยศีติสาร) ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ ๕ พะเยาอยู่ในมณฑลพายัพ พระยาประเทศอุดรทิศกราบบังคมลาออก แต่ยังได้อุปถัมภ์วัดศรีโคมคำเช่นเดิม ทางการจึงได้แต่งตั้งนายคลาย บุษยบรรณ เป็นนายอำเภอเมืองพะเยา ได้ร่วมกับพระยาประเทศอุดรทิศ (มหาชัยศีตีสาร) ได้อารธนาครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนามาเป็นประธานในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดศรีโคมคำครั้งใหญ่ ขณะนั้นครูบาศรีวิชัยกำลังบูรณะปฏิสังขรณ์อยู่ที่วัดพระธาตุหริภูญชัย จ.ลำพูน จากอำเภอลี้ ลำพูน ระหว่างเดินทางมา ได้มีญาติโยมผู้ศรัทธาคอยทำบุญตลอดทาง บางครั้งมีการนำเอาลูกหลานมาขอบวชด้วย มาถึงพะเยา ๒๕ ธันวาคม ๒๔๖๕ เริ่มปฏิสังขรณ์ขึ้นทันทีเมื่อง ๖ มกราคม ๒๔๖๖ ด้วยธรรมบารมีของครูบาศรีวิชัย การบูรณะปฏิสังขรณ์ รื้อพระวิหารสร้างใหม่ สร้างศาลาราย โบสถ์ วิหารพระพุทธบาทจำลอง ทุกอย่างเสร็จอย่างรวดเร็วภายใน ๑ ปี ถึงเดือนมีนาคม ๒๔๖๗ จึงทำบุญเฉลิมฉลองนานถึง ๑ เดือนเต็ม หลังจากทำบุญฉลองแล้ว ครูบาศรีวิชัยก็กลับไปเชียงใหม่เริ่มสร้างวิหารวัดสวนดอกต่อไป
|
พระพุทธบาทจำลอง | |
ภายในวัดศรีโคมคำ มี ๒ รอยประดิษฐานไว้ในเขตพุทธาวาส อยู่ทางขวามือของพระวิหารพระเจ้าตนหลวง ไม่ทราบแน่นอนว่าสร้างขึ้นในสมัยใด รอยข้างขวากว้าง ๐.๕๖ เมตร ยาว ๑.๓๒ เมตร รอยข้างซ้ายนั้นยาวเท่ากัน ในพื้นฝ่าพระพุทธบาททั้ง ๒ รอย มีลวดลายเกี่ยวกับมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ และอนุพยัญชนะ ๘๐ ตามพุทธลักษณะโดยครบถ้วน ลวดลายลักษณะพระพุทธบาทนั้น คล้ายคลึงกับศิลปะสุโขทัย จึงมีความสวยงามมากเป็นพิเศษ อาจถูกจำลองมาจากสุโขทัยก็เป็นได้
|
โบสถ์กลางน้ำ |
อยู่ด้านหลังวิหารพระเจ้าตนหลวง สร้างในปี ๒๕๒๘ เสร็จในปี ๒๕๒๙ เป็นโบสถ์หลังใหม่ ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในเป็นฝีมือของอังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ แต่ว่างานยังคงไม่เสร็จสมบูรณ์ ถึงอย่างไรงานชิ้นนี้ดูมีคุณค่ายิ่งนัก ต่อมาเมื่อง ๒๗ มกราคม ๒๕๓๖ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาเสด็จตัดลูกนิมิต ถือว่าเป็นศิริมงคลอย่างยิ่งสำหรับวัดศรีโคมคำ
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น