“ตุง” ในภาษาถิ่นล้านนา ซึ่งภาษาไทยกลาง เรียกว่า “ธง” ตุงเป็นสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธีทางพุทธศาสนา ทั้งในงานมงคลและอวมงคลต่างๆ โดยมีขนาดรูปทรงและการใช้วัสดุตกแต่งที่แตกต่างกันไป ตามความเชื่อและพิธีกรรม ตลอดจนตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่น จุดประสงค์ของการทำ ตุงและการตานตุงในล้านนาก็คือ การทำถวายเป็นพุทธบูชา ชาวล้านนาถือว่าเป็นการทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือถวายเพื่อเป็นปัจจัยส่งกุศลให้แก่ตนไปในชาติหน้า
ชาวล้านนาจะทำการตานตุงในงานประเพณีต่าง ๆ เช่น งานปีใหม่ หรือประเพณีสงกรานต์ของ ประชาชนจะทำเครื่องสักการะ คือ ธูป น้ำส้มป่อย ตุงและ ช่อตุงหรือธุง อันเป็นเครื่องสักการะ มี 4 ประเภท คือ ตุงเดี่ยว หรือตุงค่าคิง สำหรับบูชาแทนตนเอง ตุงไส้หมู บูชาพระเจดีย์ พระธาตุทั้งหลาย ตุงไจยถวายบูชาพระพุทธรูป เพื่อสร้างความสวัสดีมีชัย และช่อหรือธงชัย สำหรับปักเครื่องบูชาต่าง ๆตุงจัดเป็นเครี่องสักการะของล้านนาไทย
ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน “การตานตุง”ก็ยังมีความสำคัญสำคัญผูกพันกับความศรัทธาของชาวล้านนา นอกจากนั้นก็ยังมีความสำคัญในการแห่แหนหรือการประดับประดาเพื่อเฉลิมฉลองงานการท่องเที่ยว จึงถือได้ว่าการตานตุงนั้นเป็นพิธีกรรมและความเชื่อที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของชาวล้านนาที่ยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้เพื่อสืบทอดให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น