วัดพระธาตุดอยขวาง ต.ห้วยแก้ว อ.ภูกามยาว จ.พะเยา เป็นวัดที่มีความศักดิ์สิทธิ์ อยู่คู่บ้านคู่เมืองพะเยามายาวนานซึ่งมีตำนานเกี่ยวกับวัดพระธาตุดอยขวางอยู่ว่า
สมัยหนึ่งเมื่อ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของเราทั้งหลาย เสด็จสัญจรมาด้วยอิทธิฤทธิ์ ทรงประทับบนยอดดอยภุขวาง ที่นี้พระองค์ทรงสถิตสำราญพระอิริยาบถประทับอยู่ใต้ร่มรัง อันมีในท่ามกลางดอยที่นั้น พระองค์ทรงเปล่งออกซึ่งพระรัศมีรังษี(ฉัพพรรณรังษี) 6 ประการคือ ขาว เขียว เหลือง แดง หม่นสิ้ว มีวรรณดังแก้ววิฑูรย์ น้ำค้าง พวกชาวบ้านได้เห็นพระรัษมีของพระพุทธองค์พุ่งออกเป็นฉับพรันรังษี 6 ประการ แจ้งส่องชัชวาลย์ทั่วดอยทั้งมวลเป็นอันรุ่งเรืองงามมากก็บังเกิดศรัทธาปสาทะ ความเลื่อมใสโสมนัส ชื่นชมยินดีมากพวกนายบ้านได้เห็นดังนั้นก็ป่าวประกาศ ให้ภรรยาลูกเต้าตลอดชาวบ้านทั้งหลายแล้วรีบเร่งจัดแจงแต่งหาโภชนาหารพร้อมบริบูรณ์แล้วก็นำไปใส่บาตร(ตักบาตร) ถวายแด่พระพุทธเจ้ากับทั้งพระอรหันต์ทุกพระองค์ พระอรหันต์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานก็ทรงรับภัตตหารบิณฑบาต และพระองค์ก็ฉันจังหัน บนดอยที่นั้น ครั้นฉันแล้วก็ทำภัตตกิจ แล้วแสดงพระธรรมเทศนา อนุปุพพิกถามีทานกถา เป็นต้น แก่ทายกทายิกา ทั้งหลาย พระองค์จึงตรัสว่า สถานที่นี้เป็นที่รื่นรมย์กีนักสมควรตั้งไว้ซึ่งศาสนาของเราตถาคตครั้นแล้วพระอานนท์ พุทธอุปทานกราบทูลว่า ขอพระธาตุเกศาของพระองค์ ขณะนั้นพระองค์จึงยกทักขิณ หัตถเบือ้งขวาขึ้นลูบคลำพระเศียรได้พระเกษามา 3 เส้น (3 องค์) แล้วมอบให้แก่พระอานนท์ฯ ทรงให้เจ้ารัตนเถระฯ กราบถวายแก่พระยาอโศก แล้วนำเข้าบรรจุในกระบอกไม้รวก จากนั้นพระอินทร์ก็มารับเอาไปบรรจุในโกศแก้วมรกต เสร็จเรียบร้อยพระพุทธองค์จึงตรัสสั่งพระอินทร์ว่าให้เอาพระธาตุเกษาของตถาคตเรานี้ เข้าบรรจุไว้ในถ้ำคูหาที่นี้เมื่อพระองค์ตรัสสั่งดังนั้นแล้วพระอินทร์ก้ให้ประดับประดาตกแต่งในถ้ำแห่งนั้น ด้วยแผ่นทองเงิน และแผ่นทองคำ เป็นบริเวณแล้วเนรมิตรปราสาททองสูง9 วา ทรงตั้งแตรแวดล้อมด้วยเครื่องท้าว 5 ประการ ไว้ทั้ง 4ด้าน ทรงกั้นเศวตฉัตรไว้12 ด้านแล้วก็นิรมิตรดอกไม้ทองคำ ธงช้าง ธงทิว แวดล้อมทั้ง 12 ด้าน แล้วนิรมิตรเทวบุตรรูปใหญ่ขนาดเท่าตัวคน ถือดาบศรีกัญชัย ยืนเฝ้ารักษาอยู่ทุกมุมปราสาท พระธาตุทั้ง12 ด้าน แล้วเนรมิตรรูปกุมภัณฑ์ใหญ่เท่าตัวคน ยืนถือดาบศรีกัญชัย ยืนเฝ้าทั้ง 12 ด้านจุดประทีปใหญ่ไว้12 ดวงจุดบูชาไว้ 12ด้าน ทำให้สว่างไสวไปทั่วอุโมงค์ และอันเชิญโกศมรกตบรรจุพระธาตุประดิษฐานไว้ในท่ามกลางปราสาททองคำ เรียบร้อยแล้วจึงปิดด้วยก้อนหินเทด้วยทรายลาดด้วยดินและอิฐ (ก่อด้วยอิฐ) ถมด้วยก้อนหินใหญ่แล้วก่อเป็นเจดีย์ ครอบสูงประมาณ 7 ศอก เมื่อนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสสั่งไว้ว่า เมื่อใดเราตถาคต เสด็จเข้าสู่ปรินิพพานขอให้เอาธาตุข้อมือขวามาบรรจุ ไว้ทับเกษาธาตุนี้ตรัสต่อไปว่าดูกรอานนท์ พระธาตุในดอยลูกนี้ต่อไปจะได้ชื่อว่าพระธาตุภูขวาง เพราะดอยนี้ยาวไปทางทิศตะวันตก และทิศตะวันออกส่วนนายบ้านผู้ประกาศป่าวร้องให้ชาวบ้านเกิดศรัทธาเลื่อมใส ต่อไปจะได้มาเกิดเป็นพระยาเจ้าเมืองที่นี้มีนามว่าพระยาศรีจอมธรรมิกราชจักสร้างพระเจดีย์ขึ้นแห่งนี้ ตีนธรณีกว้าง 5วา สูง 14 วา และจะสร้างวิหารกำแพงให้รุ่งเรืองยิ่งขึ้น ตรัสต่อไปว่าดูกรอานนท์พระเจดีย์องค์นี้วิเศษยิ่งนักผู้ไม่มีบุญวาสนาจักได้มาสร้าง หรือแม้จะไหว้สักการะบูชาก็หามิได้ยกไว้ ให้แก่ผู้มีบุญวาสนาเท่านั้น ดูกรอานนท์บุคคลผู้ใดจะเป็นท้าวพระยามหากษัตรฺย์ก็ดี เศรษฐีก็ดี พราหมหาศาลคหบดี คตฤหัส นักบวช หญิงชาย ได้สร้างพระธาตุก็ดี สร้างวิหาร ศาลาบาตร กำแพง เป็นต้น บุคคลเหล่านั้นจักปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็ดี พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ดีแม้นจักปรารถนา อรหันตา อรหันตี ภิกษุ ภิกษุณี สาวก สาวิกา ก็ดี จักปรารถนาเอาลูกผู้ประเสริฐ และข้าวของ สัมปัตติก็ดีก็จักได้ดังมโนรสปรารถนาของตน ครั้นตายจากโลกนี้ ก็จักได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต เสวยทิพสมบัติมีวิมารทองสูงได้ร้อยโยชน์มีนางฟ้าได้แสนโกฏิเป็นบริวาร ครั้นจุติจากนั้นก็จักลงมาเกิดเป็น พระอริยเมตไตรโพธิสัตย์เจ้าประการสมณะพราหมณ์ท้าวพระยาปัจจานราชคฤหัสนักบวชผู้ใด ได้เจริญเมตตาภาวนาในสถานที่นี้ก็ดีและได้ปฏิบัติ กวาดแผ้วผางยากเยื้อ แล้วขนทรายมาโปรยลงในช่วงลางพระเจดีย์ และวัดวาอารามที่นี้ให้ราบรื่น ก็จักมีบุญสมภารอันมากเมื่อตายก็จักได้ไปเกิด ในชั้นฟ้า ชื่อยามามีวิมารสูงได้ 9 โยชน์ มีนางฟ้าได้ 30000คนเป็นบริวารแม้นเกิดในมนุษย์โลกนี้ ก็จักมีผิวพรรณผุดผ่องใสสะอาด ปราศจากราคิณ เคื่องมัวหมอง จะเป็นที่ถูกเนื้อต้องใจ แก่คนทั้งหลาย
(ขอบคุณที่มา ลานธรรมจักร www.dhammajak.net )
วัดพระธาตุภูขวางตั้งอยู่บนภูเขาขวาง รอบวัดมีกำแพงล้อมรอบ ทางเข้าประตูวัดมีรูปปั้นเสืออยู่สามตัวและมุมทั้งสี่ของกำแพงวัดมีหินทรายแกะสลักเป็นรูปดอกบัวประดับอยู่ โดยรอบพระวิหารมีหินทรายแกะสลักเป็นรูปเสมาธรรมจักรตั้งอยู่บนแทนปูนด้านละสามอัน ตัวพระวิหารเป็นวิหารเปิดโล่งมีฝาผนังด้านหลังคล้ายกับพระวิหารวัดพระธาตุจอมทองเพียงแต่สร้างด้วยปูน ด้านหลังพระวิหารมีเจดีย์รูปทรงศิลปะล้านนา ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมสิบหก แต่ละด้านขององค์เจดีย์มีรูปปั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ในซุ้มจระนำตัวองค์เจดีย์ทาด้วยสีทอง ปลายยอดของเจดีย์ประดับด้วยกระจกสีสวยงามและมีฉัตรฉลุลายอย่างวิจิตรเก้าชั้น จากในตำนานการบูรณะวัดพระธาตุได้กล่าวไว้ว่าวัดพระธาตุภูขวางแห่งนี้ครั้งหนึ่งครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เดินทางมาเป็นองค์ประธานในการบูรณะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวัดแห่งนี้มีความสำคัญมากวัดหนึ่งในจังหวัดพะเยาหรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญวัดหนึ่งในดินแดนล้านนาก็ว่าได้
พะเยา108 ได้มีโอกาสมากราบนมัสการพระธาตุของวัดพระธาตุภูขวางเมื่อต้อนเดือนมิถุนายนปี 2558 ในการมาในครั้งนี้ได้มีโอกาสพูดคุยสอบถาม เจ้าอาวาสวัดพระธาตุภูขวางท่านได้บอกกับพะเยา108 ว่าท่านได้มาจำวัดอยู่ที่นี่เมื่อปี พ.ศ.2537 ในสมัยนั้นทางขึ้นยังเป็นดินลูกรังอยู่ทางขึ้นก็ยังไม่สะดวกสบายเหมือนในปัจจุบันและก็ได้มีการพัฒนาเรื่อยๆ จนในปัจจุบันทางขึ้นสู่วัดพระธาตุเป็นทางซีเมนต์ ส่วนตัวองค์พระธาตุได้มีการทาสีทองใหม่ส่วนการพัฒนาด้านอื่นๆ ก็ค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ เนื่องจากทางวัดได้ขาดปัจจัยในการพัฒนาทะนุบำรุง ส่วนเรื่องไฟฟ้า ทางวัดได้ใช้ไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลเนื่องจากไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงบางวันถ้าฟ้ามืดไม่มีแดดวันนั้นวัดก็ไม่มีไฟใช้ส่วนเรื่องน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภควัดใช้น้ำจากน้ำฝนที่รองไว้บางวันองค์การบริหารส่วนตำบลก็นำน้ำใส่รถมาให้ใช้ ปัจจุบันทางวัดได้มีการบูรณะบันไดทางขึ้นโดยทางวัดได้มีการสร้างพญานาคสองข้างทางขึ้นบันไดเนื่องจากของเดิมเก่าและชำรุด
การเดินทางสู่วัดพระธาตุภูขวางนั้นสามารุเดินทางได้โดยรถยนต์ โดยใช้เส้นทางพหลโยธิน เมื่อมาถึงสี่แยกประตูชัยให้เลี้ยวไปทางอำเภอดงเจน( เลี้ยวไปทางโรงเรียนพะเยาพิทยาคม) จากนั้นขับรถตามเส้นทางสายหลักเรื่อยๆ ผ่าน อ.ดงเจน ผ่าน อ.ภูกามยาว แล้วให้สังเกตด้านซ้ายมือจะมีป้ายโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติขับรถตรงไปอีกประมาณ 100 เมตร จะเห็นป้ายบอกทางวัดพระธาตุภูขวางทางซ้ายมือ ให้เลี้ยวขวาตามที่ป้ายบอก (จะสังเกตเห็นซุ้มประตูโขงขวามือ) ขับรถตรงไปผ่านหมู่บ้านแล้วจะสังเกตภูเขาที่อยู่เบื้องหน้า ขับรถตามเส้นทางก็จะมาถึงวัดพระธาตุภูขวาง (ถนนคอนกรีตจนถึงตัววัด)
วัดพระธาตุภูขวางเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของจังหวัดพะเยา เป็นวัดที่มีตำนาน มีเรื่องเล่าขานมายาวนาน หากท่านมีโอกาสเดินทางมาเยือนจังหวัดพะเยาอย่าพลาดที่จะเดินทางมากราบนมัสการองค์พระธาตุเพื่อความเป็นสิริมงคลของท่านและครอบครัวและที่สำคัญเป็นช่วยทะนุบำรุงพุทธศาสนาในดินแดนพะเยา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น