วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2558

โบราณสถานเวียงลอ



โบราณสถานเวียงลอ



สถานที่ตั้งของโบราณสถานเวียงลอห่างจากตัวอำเภอจุนไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๒๑ ถึงบ้านห้วยงิ้วประมาณ ๑๗ กิโลเมตร มีทางแยกเป็นทางเดินถึงบ้านน้ำจุนอีก ๑๒ กิโลเมตร มีทางแยกเป็นทางเดินถึงบ้านน้ำจุนอีก ๑๒ กิโลเมตร ปรากฏซากกำแพงเมืองเก่า วัดร้างอยู่มากมาย พระธาตุและวัดเก่าแก่คือ วัดศรีปิงเมือง เมืองลอหรือเวียงลอ มีคูเมืองและกำแพงคันดิน ๑-๒ ชั้น ล้อมรอบ ตั้งอยู่ที่ราบระหว่างเชิงดอยจิกจ้องและแม่น้ำอิง


ประวัติและผังเมืองของโบราณสถานเวียงลอ

ลักษณะผังเมืองเป็นรูปค่อนข้างกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๕๐๐ เมตร มีแม่น้ำอิงไหลผ่านแนวกำแพงด้านทิศใต้ และแม่น้ำอิงที่เปลี่ยนทางเดินไหลผ่านกลางเมือง จากทิศใต้ไปยังมุมเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แนวกำแพงเมืองเป็นคันดินไม่สูงนัก บางส่วนมีร่องรอยการก่ออิฐเสริมด้วยคูเมืองส่วนใหญ่ตื้นเขิน ภายในตัวเมืองมีบ่อน้ำกรุอิฐจำนวนมาก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ทำไร่ข้าวโพดและเป็นที่รกร้างว่างเปล่า แต่เดิมภายในเมืองลอ มีวัดร้างกว่า ๕๐ วัด ตามวัดร้างจะพบพระพุทธรูปหินทรายและพระพุทธรูปทองสำริดจำนวนมาก แต่ถูกทำลายลงไปเกือบหมดแล้ว ที่สำคัญคือ วัดพระธาตุหนองห้าเป็นศาสนสถานที่ตั้งอยู่บนลาดชายเนินเขา ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงคล้ายพระธาตุเจดีย์ที่วัดลีเมืองพะเยา ซึ่งสัณนิษฐานว่าสร้างเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานว่า ๙๐๐ ปี ตามหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึก พบที่วัดใหม่ ซึ่งเป็นวัดร้างในเวียงลอ ข้อความในจารึกกล่าวถึงเจ้าหมื่นล่อเทพศรีจุฬาสร้างวัดใหม่เมื่อ จ.ศ. ๘๕๙ (พ.ศ. ๒๐๔๐) ถวายเป็นพระราชกุศลแก่มหาเทวีเจ้าและพระมหากษัตริย์ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ และกล่าวถึงอาณาเขตวัดนี้ให้อยู่ในพื้นที่ตะวันออกจรดฝั่งแม่น้ำด้านใต้จรดคูเมืองชั้นนอก (คือเวียง) ด้านตะวันตกออกห่างไปร้อยวา ด้านเหนือจรดคูเมืองและด้านท้ายของจารึกยังบอกว่า ผู้ใดมาครองเมืองลอต่อไปขอให้บำรุงพระพุทธศาสนาและวัดใหม่นี้สืบไปอย่าได้ทำลาย ความในศิลาจารึกกล่าวชี้ให้เห็นว่า เวียงลอ หรือเมืองล่อ เป็นเมืองโบราณที่มีคูเมืองกำแพงเมืองล้อมรอบอย่างน้อย สองชั้นและชื่อเมืองลอ (เมืองล่อ) ก็เป็นชื่อเรียกกันมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๑ และเมืองลอสร้างก่อนปีที่สร้างวัดป่าใหม่นี้ หรือก่อน พ.ศ. ๒๐๔๐


ในสมัยล้านนา “เวียงลอ” เป็นเมืองสำคัญอยู่ระหว่างเส้นทางคมนาคมติดต่อระหว่างเมืองเชียงแสน เมืองเชียงของ เมืองเทิง เมืองพะเยา และเมืองน่าน ล้านช้าง ดังปรากฏในตำนานพระเจ้าทองทิพย์ วัดสวนตาล เมืองน่านว่า ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช พ.ศ. ๑๙๙๓ คราวที่เสด็จไปตีเมืองน่าน ยกทัพผ่านเมืองลอและตั้งขุนนาง ครองเมืองลอด้วยเวียงลอ ยิ่งมีความสำคัญและมีผู้คนอยู่อาศัยมาตลอดสมัยล้านนาและแม้ว่าล้านนาจะตกอยู่ในอำนาจพม่า แต่พม่ายังให้ความสำคัญโดยเจ้าเมืองลอ มีฐานะเท่าเจ้าเมืองสาดและให้เมืองลอขึ้นกับเมืองพะเยาในสมัยกรุงธนบุรี พ.ศ. ๒๓๒๒ พระยากาวิละได้กระทำการไถ่โทษโดยการตีเอาเมืองลอและเมืองเทิง กวาดต้อนผู้คนมาถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งความในตำนานกล่าวชี้ให้เห็นว่า เมืองลอยังเป็นเมืองสำคัญและมีผู้คนอยู่อาศัยมาโดยตลอด จนถึงสมัยกรุงธนบุรี สันนิษฐานว่าเมือง ละจะร้างผู้คนและหมดความสำคัญลงในคราวที่พระยากาวิละยกทัพไปตี และกวาดต้อนผู้คนลงไปทั้งหมดนั่นเองสมัยพระเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าปกครองนครน่านได้ให้ขุนหลวงไชยสถานนำไพร่พลออกมาตั้งบ้านเรือนใหม่เรียกว่า “เมืองจุน” หลังจากที่เมืองลอเสื่อมลง ขุนหลวงไชยสถานก็ได้รวมเอาเมืองลอไว้ด้วยกันในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ เมืองลอ เมืองจุน เมืองเทิง นครน่าน เชียงของ รวมกันเป็นเขตการปกครอง “นครน่านเหนือ รวมเมืองพาน แม่สรวย เวียงป่าเป้า เชียงราย เชียงแสน แม่จัน ยุบเมืองลอ เมืองจุนเป็นตำบลขึ้นอยู่ในเขตการปกครองเป็นมณฑลพายัพเหนือ วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๐๖ กระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นตำบลลอ ตำบลจุนเป็นกิ่งอำเภอ ให้อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอเชียงคำ จังหวัดเชียงราย ต่อมาวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๐๘ ได้ยกฐานะจากกิ่งอำเภอเป็น “อำเภอจุน” จังหวัดเชียงราย จนถึงวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๒๐ ได้มีการจัดตั้งจังหวัดใหม่ คือ จังหวัดพะเยา ให้อำเภอจุนอยู่ในเขตปกครองของจังหวัดพะเยา นับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน


โบราณสถานเวียงลอกินอาณาบริเวณกว้างใหญ่มาก ตั้งอยู่บนสองฝั่งลำน้ำอิง การจะชมให้ทั่วถึงนั้นต้องใช้เวลามากและการเดินทางที่ไกล รถยนต์ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่โบราณสถานจุดสำคัญต่างๆได้ พาหนะที่เหมาะสมมากๆคือจักรยาน ทำให้ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และสัมผัสธรรมชาติ วิถีชีวิตอันสวยงามอีกด้วย ถ้ามีจักรยานควรติดไปด้วยเมื่อมาถึงโบราณสถานเวียงลอ รับรองจะเพลิดเพลิน สนุกและมีความสุขกับการมาเยือนโบราณสถานเวียงลอแห่งนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น